มารู้จักกับ “โลก” ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์



เมื่อโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ”  สัดส่วนจำนวนประชากร “ผู้สูงวัย” เพิ่มมากขึ้นพร้อมกับปัญหาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ ถึงแม้ว่าวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันจะก้าวไกลไปมาก แต่ในการค้นคว้าศึกษาการรักษาและป้องกันโรคบางโรค ยังคงอยูในความมืดมน

“อัลไซเมอร์” เป็นหนึ่งในโรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่สามารถคิดค้นวิธีการป้องกันและรักษาได้ ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี  ในปัจจุบันมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณ 44 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยจากการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2555 มีจำนวนผู้ป่วยขึ้นทะเบียน ประมาณ 600,000  ราย ซึ่งในความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยอาจมีมากถึง 1 ล้านคนแล้วในขณะนี้

อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่มักเริ่มจากอาการ “หลงลืม” ซึ่งญาติหรือผู้ดูแล และแม้กระทั่งแพทย์เอง อาจมองข้ามสัญญาณเหล่านี้และคิดว่าเป็นอาการปกติของผู้สูงวัย จนกระทั่งอาการของโรคทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนญาติหรือผู้ดูแลไม่สามารถดูแลได้ กลายเป็นปัญหาข้อขัดแย้งในครอบครัว   และส่งผลให้ผู้ป่วยถูกทอดทิ้ง ละเลย และถูกทำร้ายได้ในบางกรณี

อาการหลักของโรคอัลไซเมอร์มักจะพบบ่อย ประมาณ 70-90% ของผู้ป่วย คือ การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ พูดซ้ำ หลงลืม ก้าวร้าว พูดคำหยาบ สับสน เกิดภาพหลอน   ซึ่งญาติหรือผู้ดูแลมักจะไม่เข้าใจ และไม่สามารถรับมือกับพฤติกรรมเหล่านี้ได้  และโดยส่วนใหญ่การดูแลมักจะจบลงด้วยการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว และการไม่ใส่ใจกับผู้ป่วย ซึ่งส่งผลให้อาการของโรคทรุดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น   

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ถูกต้อง ผู้ดูแลต้องใช้ความอดทน และเข้าใจในอาการป่วยของโรคอย่างถ่องแท้ ต้องทำความเข้าใจว่า ทำไม ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ถึงมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม  สิ่งที่ผู้ดูแลควรเข้าใจเป็นอันดับแรก คือ สาเหตุและอาการของโรค

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือ ผู้ป่วยที่มีความมีความผิดปกติของการทำงานของสมอง ที่ส่งผลต่อการรับรู้ การสื่อสาร และความจำ กอร์ปกับผู้ป่วยบางรายมีความเสื่อมของประสาทสัมผัส เช่น หู ตา รสชาติ ร่วมด้วย  ทำให้ผู้ป่วยมีข้อจำกัดมากมายในการใช้ชีวิตประจำวัน  ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ต้องพึงระลึกเสมอว่า ด้วยความบกพร่องของอวัยวะทำให้ผู้ป่วยจะมี  “โลก”   ของตนเองที่ไม่เหมือนคนปกติทั่วไป  ลองนึกจินตนาการว่าหากวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาและไม่สามารถมองเห็นวัตถุสิ่งของชัดเจนเหมือนเคย  ไม่สามารถได้ยินเสียงที่คนรอบข้างพูดได้ถนัด เพราะมีเสียงรบกวนภายในหูอยู่ตลอดเวลา  หยิบจับสิ่งของต่างๆก็ไม่ถนัดเพราะกะระยะไม่ถูก  แถมนึกคำพูด นึกชื่อคน นึกเรื่องราวต่างๆไม่ออก  ถ้าเรามีอาการอย่างนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะโมโห จะโกรธ จะสับสน จะหวาดกลัวขนาดไหน ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็จะรู้สึกเช่นเดียวกัน  เพราระบบความคิด ความจำ การรับรู้ ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์แตกต่างไปจากคนปกติทั่วไป ผู้ป่วยจึงต้องการ “ความรัก” และ   “ความเข้าใจ” จากญาติและผู้ดูแลมากที่สุด

5 สิ่งที่ผู้ดูแลต้อง “เข้าใจ” ในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ได้แก่
     “เข้าใจ”  ว่าผู้ป่วยมีปัญหาด้านความจำ และจะลืมเรื่องราวต่างๆในอดีต หรือเหตุการณ์ที่เพิ่งขึ้นเมื่อไม่นาน ดังนั้น การพูดเรื่องเดิมๆ ถามเรื่องซ้ำๆจึงเป็นเรื่องปกติ
     “เข้าใจ”  ว่าความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เช่น ประสาทสัมผัสทั้ง 5  ทำให้ ผู้ป่วยอาจมองเห็นไม่ชัด ได้ยินไม่ชัด จึงไม่เข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสาร ดังนั้น เราอาจต้องพูดดังขึ้น พูดย้ำ และอธิบายมากขึ้น
     “เข้าใจ” ว่าผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการได้ทั้งหมด ทำให้บางครั้งผู้ป่วยเกิดความหงุดหงิด โมโห สับสน ก้าวร้าว ดังนั้น จึงต้องช่วยผู้ป่วย โดยหมั่นสังเกตุดูแลสภาพร่างกายผู้ป่วย และสภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต
     “เข้าใจ” ว่าผู้ป่วยมีความรู้สึกเหมือนเราทั่วไป บางวันรู้สึกดี บางวันรู้สึกไม่ดี ดั้งนั้น การกระทำหรือพฤติกรรมของผู้ป่วยอาจขึ้นๆลงๆแล้วแต่อารมณ์และแรงกระตุ้นจากภายนอก
     “เข้าใจ”  ว่าผู้ป่วยมีความรู้สึก และความคิดเหมือนคนปกติ เพียงแต่มีความบกพร่องด้านการรับรู้ สื่อสาร ตีความหมาย ดังนั้น การดูแลด้วย “ความรัก” และให้ “ความอบอุ่น” จึงเป็นพื้นฐานการดูแลที่สำคัญที่สุด

เหนือสิ่งอื่นใด ญาติและผู้ดูแลต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทุกรายมี  “คุณค่าและศักดิ์ศรี” ของตนเอง เช่นเดียวกับคนเราทุกคน ไม่ว่าผู้ป่วยจะรับรู้ จดจำ สิ่งรอบตัวได้มากน้อยแคไหน หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างไร ผู้ป่วยยังคงความเป็นคน ยังมีคุณค่า ยังมีศักดิ์ศรี และยังมีอดีตที่น่าจดจำและควรแก่การเคารพนับถือ  ดังนั้น ญาติหรือผู้ดูแลควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์เฉกเช่นบุคคลสำคัญตลอดเวลา

บทความ โดย เพ็ญศิริ ปันยารชุน   
084 362 3145  Email pensiri@absoluteliving.co.th
วิทยากร   หลักสูตร exclusive  การอบรมการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์
บริษัท แอบโซลูท ลิฟวิ่ง(ไทยแลนด์) จำกัด
www.absolutelivingthailand.com
www.facebook.com/AbsoluteLivingThailand


บทความที่เกี่ยวข้อง

มารู้จักกับ “โลก” ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์

เมื่อโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ”  สัดส่วนจำนวนประชากร “ผู้สูงวัย” เพิ่มมากขึ้นพ

รู้ไว้ ห่างไกลโรคไต

โรคไต เป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะถามไถ่ผู้สูงอายุท่านใด ส่วนมากก็จะเป็นโรคไตร่วมด

พฤติกรรมแบบใด เสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบ

ในวัยสูงอายุ ภูมิคุ้มกันจะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จึงอาจเกิดโรคต่างๆ ขึ้นได้ แม้ว่

ดื่ม ดื่ม ดื่ม เรามาดื่มนมกันเถอะ

เมื่อถึงวัยที่อายุเพิ่มมากขึ้น การดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากการใส่ใจในเรื่องของโภชนาก

ผู้สูงอายุ กับการมองเห็นและสภาวะสายตา

ในช่วงวัยสูงอายุ ถ้าจะพูดกันอย่างขำขัน จะพูดว่าเป็นช่วงวัยที่มีสายต

3 โรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ มักมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคไต โรคปอด เป็นต้น ซึ่งโรคเหล